หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักพบหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น และกลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคือง (ฝุ่น ควัน ) ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
*หลอดลมอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือก (mucous gland) โตขึ้นและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามากกว่าปกติ อุดกั้นให้ช่องทางเดินหลอดลมแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอมีเสมหะ บางครั้งอาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
สาเหตุ
1. จากการติดเชื้อ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ และติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด
ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (เช่น Mycoplasma pneumoniae‚ Clamydia pneumoniae‚ Streptococcus pneumoniae‚ Hemophilus influenzae‚ Moraxella catarrhalis) ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคืองหรือมลพิษเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง
2. จากการถูกสิ่งระคายเคือง ที่พบบ่อย คือการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ขนอ่อน (cilia) ที่เยื่อบุหลอดลมเคลื่อนไหว (โบกพัดเพื่อปกป้องผิวหลอดลม) น้อยลง เยื่อบุหลอดลมถูกระคายเคือง ทำให้ต่อมเมือกโตขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และฟื้นหายได้หายช้ากว่าปกติ
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากควัน ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง รวมทั้งเกิดจากการระคายเคืองของน้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรด) ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งระคายเคือง อาจเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย และอาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการ
ที่สำคัญคือ มีอาการไอบ่อย ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ ใน 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 วัน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะเล็กน้อย เป็นเสมหะใส แล้วต่อมาเสมหะจะมีปริมาณมากขึ้น มีลักษณะเป็นสีขาว
ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอนำมาก่อนที่จะเกิดอาการไอ บางรายอาจไม่มีอาการเหล่านี้นำมาก่อนก็ได้
ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ ๆ อยู่นาน 3-5 วัน บางรายอาจมีอาการน้ำมูกไหล เจ็บคอเล็กน้อย ปวดศีรษะเล็กน้อย เสียงแหบ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย หรือรู้สึกหายใจหอบเหนื่อยเล็กน้อยร่วมด้วย
อาการมักจะทุเลาใน 7-10 วัน และหายภายใน 3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการไอต่อเนื่อง อาจนานถึง 8-12 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี
ผู้ป่วยมักมีอาการไอมากเวลาล้มตัวลงนอนตอนกลางคืน (จนอาจทำให้นอนไม่พอ) หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือเวลาสัมผัสถูกสิ่งระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ (เช่น ความเย็น ฝุ่น ควัน ลมจากพัดลม/เครื่องปรับอากาศ) ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอหรือเจ็บหน้าอกเวลาไอแรง ๆ หรืออาจมีอาการอาเจียนจากการไอ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก)
ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะที่มีลักษณะข้นและหนาตัวขึ้น สีเสมหะเปลี่ยนจากขาวเป็นเหลืองหรือเขียว มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ รู้สึกเหนื่อยหอบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด
ข้อมูลโรค: หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions