ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)  (อ่าน 16 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 429
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
« เมื่อ: วันที่ 9 ตุลาคม 2024, 18:17:22 น. »
Doctor At Home: โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ก็เรียก) เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4-5 เท่า และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี แต่ก็พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย


สาเหตุ

โรคนี้พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อม ๆ กัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน) ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune)

พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น เช่น การมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน


อาการ

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนำมาก่อนนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น

ส่วนน้อยอาจมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลันภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ หลังผ่าตัด หลังคลอด หรืออารมณ์เครียด ซึ่งบางรายอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโตร่วมด้วย

ข้อที่เริ่มมีอาการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก

ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือมีอาการปวดข้อพร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง 2 ข้าง และข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวมเหมือนรูปกระสวย ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย ตั้งแต่ข้อขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า

บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อ หรือไม่กี่ข้อ และอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย (ไม่เกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย) ก็ได้

อาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบาก) มักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจหรือไม่อยากตื่นนอน พอสาย ๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายจะทุเลา

บางรายอาจมีการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ

อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับกำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์

ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้ออาจจะแข็งและพิการได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาการปวดชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s phenomenon) ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หูอื้อ หูตึง หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ข้อพิการผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ บางรายอาจมีการผุกร่อนของกระดูก ในบ้านเราพบว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคนี้ยังอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น (โรคคาร์พัลทูนเนล) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคปอดเรื้อรัง (จากการอักเสบและกลายเป็นพังผืดของเนื้อเยื่อปอด)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในระยะแรกอาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ในระยะที่เป็นมากอาจพบข้อนิ้วมือนิ้วเท้าบวมเหมือนรูปกระสวย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR)* และ c-reactive protein สูง และมักจะพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (rheumatoid factor) และสารภูมิต้านทานที่มีชื่อว่า "Anti-cyclic citrullinated peptide (anti-CCP) antibodies"

การตรวจเอกซเรย์ข้อจะพบมีการสึกกร่อนของกระดูก และความผิดปกติของข้อ

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจอัลตราซาวนด์และถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค

*อีเอสอาร์ (ESR) ย่อจาก erythrocyte sedimentation rate หมายถึง อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง ค่าปกติต่ำกว่า 20 มม. ใน 1 ชั่วโมง


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

เริ่มแรกจะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก นาโพรเซน)

ยานี้ต้องกินติดต่อกันทุกวัน นานเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ จนกว่าอาการจะทุเลา

ขณะเดียวกันก็จะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งมักจะแนะนำให้ทำในตอนเช้านาน 15 นาที

ผู้ป่วยควรพยายามขยับข้อต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการฝึกกายบริหารในท่าต่าง ๆ ซึ่งควรทำเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ข้อทุเลาความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหาเวลาพักผ่อน สลับกับการทำงาน หรือการออกกำลังกายเป็นพัก ๆ

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจต้องเข้าเฝือกเพื่อให้ข้อที่ปวดได้พักอย่างเต็มที่

ถ้าให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ไม่ได้ผล อาจต้องให้สเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ แต่จะให้กินเป็นระยะสั้น

นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่ม Disease-modifying antirheumatic drugs (DMARDs) ที่ช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และป้องกันภาวะข้อถูกทำลาย เช่น ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine), เมโทเทรกเซต (methotrexate), ซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine), ไซโคลสปอริน (cyclosporin), เลฟลูโนไมด์ (leflunomide) เป็นต้น ซึ่งมักจะได้ผลค่อนข้างดี และช่วยให้โรคมีระยะสงบ ไม่มีอาการ (remission) ไปได้

หากไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ยาต้านการอักเสบกลุ่มใหม่ ๆ (เช่น etanercept, infliximab, rituximab, baricitinib, tofacitinib) ซึ่งมักให้ร่วมกับเมโทเทรกเซต (methotrexate)

ในรายที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล และข้อถูกทำลายผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไข รวมทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (joint replacement) เพื่อให้กลับมาใช้การได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบาก กำมือลำบาก) ซึ่งมักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า หรือมีอาการปวดข้อนิ้วมือทุกข้อพร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง 2 ข้าง  ข้อนิ้วมือบวมเหมือนรูปกระสวย หรือมีอาการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อ หรือไม่กี่ข้อ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หมั่นบริหารข้อตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ขยับข้อต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง, ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ, แช่หรืออาบน้ำอุ่น
    ลดน้ำหนักถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
    ออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ รำมวยจีน เป็นต้น
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มีระยะสงบ (ไม่มีอาการ) และอาการข้ออักเสบกำเริบสลับกันไป ส่วนน้อยที่อาจหายขาด และส่วนน้อยที่จะเป็นรุนแรงเกิดข้อพิการในเวลารวดเร็ว ผู้ป่วยควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง การใช้ยา การรักษาทางกายภาพบำบัด การกำหนดเวลาพักผ่อน ทำงาน และออกกำลังกายให้พอเหมาะ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้เป็นปกติส่วนใหญ่

2. หัวใจของการรักษาโรคอยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ กล่าวคือ จะต้องพยายามเคลื่อนไหวข้อและฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่ง ๆ เพราะยิ่งอยู่นิ่งข้อยิ่งฝืดแข็ง และขยับยากยิ่งขึ้น

3. ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะถึงแม้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ก็อาจเกิดโทษจากยาสเตียรอยด์ หรือยาอันตรายอื่น ๆ ที่ผสมอยู่ในยาชุด

4. เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคนี้ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงในลักษณะต่าง ๆ กัน ผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาและผลข้างเคียงของยาที่ใช้ หากมีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียง (เช่น ปวดแสบ ปวดจุกแน่นท้อง ถ่ายอุจจาระดำ เป็นไข้ หรือเป็นโรคติดเชื้อบ่อย) เป็นต้น ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

5. ชาวบ้านอาจมีความสับสนในคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้เรียกเกี่ยวกับอาการปวดข้อ เช่น คำว่า รูมาติสซั่ม (rheumatism) ซึ่งหมายถึงภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ปวดเมื่อย หรือปวดล้าของข้อ เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงเป็นคำที่ใช้เรียกอาการปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยรวม ๆ ซึ่งสามารถแบ่งแยกสาเหตุได้มากมาย (ตรวจอาการปวดข้อ) ดังนั้น รูมาติสซั่ม (โรคปวดข้อ) จึงอาจมีสาเหตุจากข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไข้รูมาติก โรคเกาต์ และอื่น ๆ ไม่ได้หมายถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์โดยเฉพาะ