การวินิจฉัย โรคหัวใจ
การวินิจฉัยโรคหัวใจไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ โดยสันนิษฐานจากอาการของผู้ป่วยว่าน่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดใด ในขั้นแรกแพทย์มักทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นและถามถึงประวัติการป่วยโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวของผู้ป่วยก่อนที่จะทำการวินิจฉัยขั้นต่อไป อาจใช้การเอกซเรย์หน้าอก ตรวจเลือด หรือการวินิจฉัยอื่น ๆ ดังนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) กระบวนการตรวจบันทึกสัญญาณไฟฟ้า เพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติของจังหวะและโครงสร้างของหัวใจ ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก หรือการตรวจในระหว่างออกกำลังกายที่เรียกว่าการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
การตรวจบันทึกการทำงานของหัวใจ (Holter Monitoring) การตรวจชนิดนี้ใช้ตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจเพิ่มเติม กรณีที่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้คอยตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนไข้อย่างต่อเนื่อง โดยเวลาที่ใช้ในการตรวจมักอยู่ที่ 24-72 ชั่วโมง
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง หรือการอัลตราซาวด์ที่หน้าอกเพื่อให้แพทย์มองเห็นการทำงานและโครงสร้างภายในของหัวใจ
การสวนหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้ท่อสั้น ๆ สอดเข้าไปยังหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขาหรือแขน จากนั้นจึงใช้ท่อกลวงที่ยืดหยุ่นและมีความยาวกว่าใส่ไปในท่อสั้นท่อแรก แล้วแหย่หลอดสวนดังกล่าวจนไปถึงหัวใจ โดยระหว่างนี้จะมีภาพจากจอเครื่องเอกซเรย์คอยช่วยนำทาง จากนั้นแพทย์จะวัดแรงดันในห้องหัวใจ หรืออาจฉีดสารทึบแสงเข้าไปด้วย เพื่อช่วยให้มองเห็นการไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจจากเครื่องเอกซเรย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังช่วยตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดและลิ้นหัวใจได้ด้วย
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (CT Scan) เป็นวิธีที่มักใช้วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ในขณะที่ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะภายในอุปกรณ์รูปร่างคล้ายโดนัท ท่อเอกซเรย์ภายในเครื่องจะปรับหมุนไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยเพื่อเก็บภาพของหัวใจและบริเวณหน้าอก
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะภายใต้เครื่องมือลักษณะคล้ายท่อ ซึ่งจะปล่อยสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา สนามแม่เหล็กนี้ทำให้เกิดภาพและช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความผิดปกติในหัวใจได้
สาเหตุของ โรคหัวใจ
สาเหตุของโรคหัวใจแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันไป เนื่องจากหัวใจประกอบด้วยการทำงานของหลายส่วนร่วมกัน โรคหัวใจแต่ละชนิดมีสาเหตุดังนี้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจหมายถึงความบกพร่องของหลอดเลือดหัวใจ มีหลากหลายชนิด แต่ส่วนมากมักใช้เรียกภาวะหลอดเลือดแดงตีบ ซึ่งเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจตามมา
ภาวะหลอดเลือดแดงตีบนี้เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผนังของหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดแดง ทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับหลอดเลือดแดงดังกล่าวได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ และเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันตามมาได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะยิ่งมีความเสี่ยงในผู้ที่มีอายุมาก มีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยโรคอ้วน ส่วนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เช่น การรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักมากเกิน หรือสูบบุหรี่
สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้ที่มีสุขภาพดีและหัวใจทำงานเป็นปกติมักมีโอกาสน้อยที่จะพัฒนาไปเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยปราศจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การถูกไฟฟ้าช็อตหรือการใช้สารเสพติดกระตุ้น แต่บางครั้งภาวะเครียด พักผ่อนน้อย และไม่ได้ออกกำลังกายก็อาจทำให้มีอาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่ไม่เกิดอันตราย แต่สร้างความรำคาญได้เช่นกัน
ส่วนผู้ป่วยที่หัวใจทำงานผิดปกติหรือมีปัญหาอยู่แล้ว อาจทำให้กระแสไฟฟ้าในหัวใจไม่สามารถผ่านไปทั่วหัวใจได้ตามปกติ รวมทั้งเป็นจุดที่สร้างสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติเอง จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้ง่ายกว่า
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ อาจยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ
ผู้ป่วยเบาหวาน
มีความดันโลหิตสูง
สูบบุหรี่
ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
ใช้สารเสพติด
ใช้ยา อาหารเสริม หรือการใช้สมุนไพรบางชนิด
เครียด
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ขึ้นอยู่กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจแต่ละชนิด
กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุด โดยอาจเป็นผลจากการไหลเวียนของเลือดไปสู่หัวใจที่ลดน้อยลง การติดเชื้อ การได้รับสารพิษหรือยาบางชนิด รวมถึงการได้รับพันธุกรรมถ่ายทอด โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดนี้มักส่งผลให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดโตขึ้น ผนังหัวใจบางลง และมีการบีบตัวของหัวใจที่แย่ลง
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา ผู้ป่วยมักมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ โดยมักเป็นผลจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดการพัฒนาของโรคไปตามเวลา เนื่องจากอายุที่มากขึ้นหรือความดันโลหิตที่สูงขึ้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจที่แข็งและยืดหยุ่นน้อยลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นผลจากการป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ ภาวะที่ร่างกายสร้างหรือรับธาตุเหล็กมากเกิน หรืออาจเป็นผลจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัดและการใช้รังสีบำบัด
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมักเกิดขึ้นระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์ โดยประมาณ 1 เดือนหลังจากการตั้งครรภ์ ขณะที่หัวใจของทารกกำลังมีการพัฒนานั้น โรคนี้ก็เกิดขึ้นไปพร้อมกัน และจะส่งผลให้การไหลของเลือดในหัวใจเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น โรคชนิดอื่น การใช้ยา การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ และการได้รับพันธุกรรมถ่ายทอด
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ทารกในครรภ์เท่านั้น ในบางรายที่มีอาการของโรครุนแรงน้อยกว่า อาการอาจพัฒนาขึ้นได้ภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย อาจมีลิ้นหัวใจผิดปกติมาแต่กำเนิด เช่น ขนาดของลิ้นผิดปกติ ใบลิ้นทำงานบกพร่อง หรือใบลิ้นยึดติดไม่พอดี หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาจากโรคชนิดอื่น เช่น ไข้รูมาติก โรคที่เกิดจากการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียไม่หมดจนเชื้อแพร่ไปสู่หัวใจ โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ เป็นต้น
สาเหตุของโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และลิ้นหัวใจอักเสบ มีสาเหตุมาจากสิ่งก่อความระคายเคืองอย่างเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต หรือสารเคมีที่แพร่เข้าไปยังหัวใจ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
นอกจากสาเหตุของโรคหัวใจแต่ละชนิดที่กล่าวไปแล้ว ปัจจัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ยังมีดังนี้
อายุมากขึ้น ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงหลอดเลือดแดงหัวใจตีบลงก็ยิ่งเพิ่มสูง และยังเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอลงหรือหนาขึ้นอีกด้วย
เพศชาย มีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
บุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบิดาหรือมารดาหรือญาติที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเร็วเกินควร โดยในผู้ชายนับที่ก่อนอายุ 55 ปี ส่วนในผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี
โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจที่มีโอกาสเกิดการตีบตันเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
โรคอ้วน น้ำหนักที่มากเกินผิดปกติจะยิ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าเดิม หากมีปัจจัยเสี่ยงข้ออื่น ๆ อยู่แล้วด้วย
ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมให้เป็นปกติจะยิ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและหนาขึ้น เป็นสาเหตุให้เลือดไหลผ่านไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ไม่เพียงพอ และนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เพิ่มโอกาสการเกิดคราบตะกรันในหลอดเลือด และจะส่งผลให้มีการขัดขวางทางเดินเลือดที่ส่งไปเลี้ยงหัวใจ
การสูบบุหรี่ สารพิษหลายชนิดในบุหรี่มีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจมีความผิดปกติ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้ง่าย นอกจากนี้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวายก็ยังพบได้ในผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
การรับประทานอาหาร อาหารที่ประกอบไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรือคลอเรสเตอรอลปริมาณสูง หากรับประทานบ่อย ๆ เป็นประจำจะยิ่งเสี่ยงพัฒนาเกิดโรคหัวใจในที่สุด
ไม่ออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจหลาย ๆ ประเภท
การไม่รักษาสุขอนามัย การไม่หมั่นรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน เป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียต่าง ๆ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อบริเวณหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว
ความเครียด ความเครียดที่ไม่ได้รับการผ่อนคลาย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
การวินิจฉัย โรคหัวใจ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/