“คุณภาพชีวิตที่ดี” หมายถึงอะไร? สำหรับเราแล้วคุณภาพชีวิตที่ดี จะหมายถึงการที่คนๆ นึงมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ไม่วิตกกังวลกับความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงพอใจในวิถีชีวิตของตนเองในปัจจุบัน
ทีนี้หลายคนอาจจะเคยถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าชีวิตของเราตอนนี้อยู่ในจุดที่เรียกว่า “มีคุณภาพชีวิตที่ดี” พอแล้วหรือยัง เราดูแลสุขภาพได้ดีพอรึยัง ไลฟ์สไตล์เราที่เป็นอยู่ตอนนี้จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและแข็งแรงได้เมื่ออายุมากขึ้นหรือเปล่า?
หากใครที่คิดดูแล้วยังไม่แน่ใจว่าตัวเองดูแลสุขภาพได้ดีพอหรือยัง หรือยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามในหัวล่ะก็ ซันเดย์ขอเสนอ 6 แนวทางใช้ชีวิต วิธีดูแลสุขภาพง่ายๆ ซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพไลฟ์สไตล์ได้ ดังนี้เลย
แนวทางที่ 1 ดูแลสุขภาพด้วยการเลือกทานให้ดี
วิธีดูแลสุขภาพในด้านการทานอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น เริ่มต้นที่การ “ทานมื้อเช้าทุกวัน” เพราะอาหารเช้าคือสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายที่อดอาหารมาทั้งคืน โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การงดอาหารเช้าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ช่วงสายของวันจะรู้สึกหิว มีอารมณ์หงุดหงิด สมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน การทำงานจะด้อยกว่าคนที่กินอาหารเช้า เนื่องจากสมองต้องการน้ำตาลกลูโคสหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ส่วนการทานอาหารมื้อเย็นตามหลักการดูแลสุขภาพนั้น ควรเลือกทานเป็นปริมาณที่น้อยที่สุดรองจากมื้อเช้าและมื้อกลางวัน นอกจากนั้นควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โปรตีนจากเนื้อเนื้อปลา และเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำอย่างอาหารประเภททอด นอกจากนั้นควรทานมื้อเย็นก่อนเข้านอน 4-6 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายมีเวลาย่อยและดูดซึมสารอาหารเพิ่มเติม
อีกอย่างก็คือควรเลือกทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเราต้องคอยสำรวจตัวเองทุกๆ วันว่าได้ทานแป้ง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้พอหรือไม่ ทั้งนี้ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า อาหารเช้าที่เหมาะสมสำหรับทุกกลุ่มวัยควรมีค่าพลังงานประมาณ 400-450 กิโลแคลอรี่ โดยใช้หลักการเลือกอาหารที่หลากหลายตามหมวดหมู่ที่ร่างกายต้องการ
แนวทางที่ 2 ดูแลสุขภาพด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ตามหลักการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเราจำเป็นต้องนอนให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จริงๆ สิ่งที่เรียกว่าการพักผ่อนให้เพียงพอนั้น จะต้องดูที่คุณภาพของการนอนเป็นหลัก โดยการนอนหลับแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือการหลับตื้น และการหลับลึก ซึ่งร่างกายของเราจะมีวงจรการนอนปลี่ยนจากการหลับตื้น เป็นการหลับลึกทุกๆ 90 นาที
จุดสำคัญของการพักผ่อนให้เพียงพอนั้น อยู่ที่การนับรอบเวลาการหลับให้แม่น เพราะถ้าเราตื่นขึ้นมาตอนที่เราอยู่ในภาวะหลับลึกร่างกายจะอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าเราตื่นขึ้นมาในช่วงที่กำลังหลับตื้น สมองเราจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่ตื่น ทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความฝันขึ้นได้ นอกจากนั้นการตื่นนอนในช่วงหลับตื้นนี้จะทำให้ไม่รู้สึกงัวเงีย สดชื่นมากกว่าการตื่นขึ้นมาในช่วงที่หลับลึกอีกด้วย
ดังนั้น ถ้าเราอยากตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาที่เรากำลังหลับตื้น ให้เราใช้วิธีกำหนดเวลาที่ต้องการตื่นก่อน เช่น ถ้าเราอยากตื่นตอน 6.00น. ก็ให้นับถอยหลังทีละ 90 นาที ทำให้เวลาเหมาะสมที่จะเข้านอนก็คือ เวลา 21.00 น. / 22.30 น. / 24.00 น. และ 01.30 น. นั่นเอง
แนวทางที่ 3 ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
จะออกกำลังกายให้ดี ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจน! เพราะการออกกำลังกายมีหลายประเภท ถ้าเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ขอแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) อย่างเช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การวิ่งจ็อกกิ้งที่ไม่หนักมาก การปั่นจักรยาน หรือการเต้นเข้าจังหวะ เป็นต้น เพราะการออกกำลังกายประเภทนี้ เป็นวิธีดูแลสุขภาพที่จะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงระบบการหายใจดีขึ้น นอกจากนั้นยังลดความดันโลหิต และเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกายไปพร้อมกัน
สำหรับความถี่ในการออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้น ควรทำกิจกรรมต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที แต่ก็ให้ดูความเหมาะสมของร่างกายเราเป็นหลัก ไม่ควรหักโหมจนเกินไปนะ ที่สำคัญก็คือก่อนการออกกำลังกายทุกครั้งควรอบอุ่นร่างกาย (Warm up) และทำการยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น และทำการผ่อนร่างกาย (Cool down) จนกระทั่งการหายใจของเราเข้าสู่ภาวะปกติค่อยหยุดจะดีที่สุด
แนวทางที่ 4 ดูแลสุขภาพด้วยการเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแกร่ง
เพราะจิตใจถือเป็นเจ้านายและร่างกายก็คือลูกน้อง ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตของเราให้ดี มีความสุขและเบิกบานใจอยู่เสมอ นอกจากจะทำให้เราสามารถใช้สมองในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายได้อีกด้วย โดยการดูแลสุขภาพจิตของเรานั้น อาจเริ่มจากวิธีง่ายๆ อย่างการถามตัวเองว่า “ชั้นยังโอเคอยู่มั้ย?” ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ให้ลองสำรวจตัวเองต่อว่าตัวเราไม่พอใจกับสิ่งใด รวมถึงเรามีพฤติกรรมอะไรที่ต่างจากไปจากปกติบ้างหรือเปล่า? อาทิ กินบ่อยขึ้น นอนไม่หลับ อ่อนเพลียตลอดเวลา ฯลฯ ซึ่งการสำรวจตัวเองนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าควรจะเลือกขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว หรือขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อไหร่นั่นเอง
แนวทางที่ 5 อยากดูแลสุขภาพให้ดี ต้องมีแผนเตรียมรับความเสี่ยง
ชีวิตของเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยิ่งช่วงปีที่ผ่านมาเราได้พบกับวิกฤตหลายอย่าง ทั้งโรคภัย หน้าที่การงาน และการจัดการเงิน ฯลฯ วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด (Worst case scenario) จึงเป็นที่สิ่งที่จะช่วยลดความวิตกกังวล และส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตได้มาก โดยเฉพาะการแบ่งเงินสำรองเอาไว้ใช้ชีวิตยามฉุกเฉิน ขั้นต่ำ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ซึ่งเงินก้อนนี้เราอาจจะเก็บสะสมเอาไว้ในรูปแบบของการฝากธนาคาร หรือการลงทุนระยะสั้นที่ถอนได้ง่าย และนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ
อีกสิ่งสำคัญที่ควรต้องเตรียมเป็นแผนสำรองเอาไว้ นั่นก็คือการลดความเสี่ยงในชีวิตด้วย “การซื้อประกัน” ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ แต่การทำประกันก็ต้องเลือกเจ้าที่มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่เรายอมรับได้ แน่นอนว่าในงบประมาณเบี้ยประกันที่เราส่งไหว
แนวทางที่ 6 ดูแลสุขภาพด้วยการใส่ใจทุกสิ่งรอบตัว
ดูแลตัวเองแล้วก็ควรจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างไปพร้อมกัน อย่างอุปกรณ์ที่เราใช้งานเป็นประจำอย่างพีซี โน๊ตบุ๊ค และโทรศัพท์มือถือ ก็ควรจะดูแลทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้อยู่กับเราได้นานๆ ซึ่งด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการใช้แปรงหรืออุปกรณ์เป่าลมทำความสะอาดฝุ่นผงออกจากตัวอุปกรณ์เป็นประจำ เพื่อลดโอกาสการลัดวงจรของระบบภายใน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้อีกด้วย
นอกจากฝุ่นผงแล้วที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นั่นคือพื้นผิวและทุกสิ่งที่มือเราสัมผัสควรทำความสะอาดเพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็น รีโมทแอร์ รีโมททีวี สวิตซ์ไฟ ปลั้กไฟ ลูกบิดประตู มือจับตู้เย็น ที่เปิดเตาไมโครเวฟ ฯลฯ ควรหมั่นใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70-90% ในทุกๆ วัน เพียงแค่นี้ก็เป็นการช่วยถนอมอุปกรณ์ต่างๆ และยังเป็นวิธีดูแลสุขภาพไปในตัว
แนวทางที่ 7 เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง อย่าลืมดูแลสุขภาพให้ดี
ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน อากาศเปลี่ยนแปลง มีทั้งฝนตก อากาศร้อนอบอ้าว ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งสถานการณ์อากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลันเหล่านี้ อาจทำให้ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และมีภูมิต้านทานลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง สำหรับวิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแบบเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ยาก เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีดังนี้
นอนหลับให้เพียงพอและถูกวิธี, ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยปรุงให้สุก ถูกสุขลักษณะ, ดื่มน้ำสะอาดอุณหภูมิห้องหรือดื่มน้ำอุ่น, ออกกำลังกายเป็นประจำ ตามที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้
หมั่นล้างมือให้สะอาด
งดของมึนเมา
งดบุหรี่
เตรียมหน้ากากอนามัยสำหรับสวมใส่เมื่อต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถสาธารณะ หรือไปพื้นที่ค่าฝุ่นละอองเยอะ
เตรียมเสื้อกันหนาวเมื่อต้องไปที่อากาศเย็นจัด ในทางกลับกันหากต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าไม่หนาจนเกินไป
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรศึกษาข้อมูลหรือสอบถามแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเผชิญสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ
แนวทางใช้ชีวิตด้วยการดูแลสุขภาพ ที่แค่พลิกความคิดซักนิด ก็จะได้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น! อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/